วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แนะแนวการเลือกเหล่าของผู้สมัครสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร 4 เหล่า BY ADMIN อัศวินน้อย


วัตถุประสงค์ของการแนะแนว
          ในการสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารของทุกๆปีนั้น ทางร.ร.เหล่า(ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า ร.ร.นายเรือ ร.ร.นายเรืออากาศ และร.ร.นายร้อยตำรวจ)จะกำหนดให้วันสอบภาควิชาการไม่ตรงกัน จึงทำให้ผู้สมัครสอบมักจะสมัครสอบทั้ง 4 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ และก็มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่สอบติดทั้งหมด 4 เหล่า แต่เมื่อมาถึงการสอบรอบที่สองกำหนดวันรายงานตัวเข้าสอบในรอบที่ 2 จะตรงกันทุกเหล่า นั่นก็หมายถึงว่า ผู้สมัครต้องเลือกเหล่าทัพที่ตนเองต้องการ บางคนเลือกเหล่าที่ตนเองสอบได้ลำดับดีที่สุด บางคนเลือกเหล่าที่ตนเองชอบแม้ลำดับที่สอบได้จะอยู่ท้ายๆ ทั้งนี้เมื่อได้แล้วแต่ไม่ชอบก็มักจะมีผู้ลาออก ซึ่งหากลาออกช่วงนักเรียนใหม่จะไม่เสียค่าปรับเพราะร.ร.สามารถเรียกผู้ที่ได้สำรองมาแทนได้ แต่บางคนลาออกขณะร.ร.เตรียมทหาร(ปี1เสียค่าปรับ 70,000 ปี2เสียค่าปรับ 80,000 ปี3เสียค่าปรับ 90,000 หากเรียนจนจบจากร.ร.เตรียมทหารแล้วไม่ขึ้นเหล่าเสียค่าปรับ 100,000 บาท) บางคนลาออกขณะศึกษาอยู่ที่ร.ร.เหล่าซึ่งก็ต้องไปรับราชการชดใช้เงินที่ทางราชการออกค่าศึกษาให้ (รับราชการชั้นยศนายสิบหรือจ่า) บางคนลาออกหลังจากเข้ารับราชการครบตามกำหนดแล้ว หรือบางคนไม่มีทางเลือกทนทำงานไปอย่างไม่มีความสุข ซึ่งทำให้กองทัพเสียโอกาสในการผลิตกำลังพลที่มีคุณภาพและตรงตามอัตราที่ขาดในแต่ละปี เพราะจำนวนนักเรียนเตรียมทหารที่เหล่าทัพรับเข้ามาในแต่ละปีนั้นทางเหล่าทัพได้คำนวณอัตราขาดไว้แล้วโดยหวังจะให้นักเรียนเหล่าจบการศึกษาบรรจุเข้าไปทดแทนนั่นเอง


เหล่าทหารบก (ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า)
  เหล่านี้เมื่อจบการศึกษาแล้วส่วนใหญ่จะได้รับการบรรจุเป็นผบ.มว. หรือผู้หมวดที่เรานิยมเรียกกันนั่นเอง ซึ่งจะได้ทำงานแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนจบการศึกษาจากร.ร.เหล่า เรามีผลการศึกษาดีแค่ไหน เพราะการเลือกตำแหน่งบรรจุจะให้ผู้ที่มีผลการเรียนดีเลือกก่อน(หากเรียนแย่ก็แทบไม่ต้องเลือก) โดยกองทัพบกมีเหล่าทหารดังนี้ ทหารราบ ทหารช่าง ทหารการข่าว ทหารพลาธิการ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารสื่อสาร ทหารขนส่ง ทหารสรรพาวุธ ทหารสารวัตร ทหารการเงิน ทหารแพทย์ ทหารสารบรรณ ทหารพระธรรมนูญ ทหารดุริยางค์ ทหารแผนที่ และทหารการสัตว์ แต่ทั้งนี้ทหารเหล่าดุริยางค์ ทหารแพทย์ ทหารการเงิน และทหารพลาธิการจะไม่ค่อยมีตำแหน่งให้นักเรียนนายร้อยเลือก เนื่องจากเป็นวิชาที่ต้องการบุคคลเฉพาะวิชาชีพหรือมีร.ร.ผลิตบุคลากรด้านนนี้อยู่แล้ว เช่น ร.ร.ดุริยางค์ทหารบก วิทยาลัยแพทยศาสตรพระมงกุฎเกล้า และการสอบบรรจุจากบุคคลภายนอก เมื่อรู้จักเหล่าแล้วทีนี้มาดูเส้นทางกันว่านักเรียนนายร้อยสามารถเลือกเส้นทางการทำงานได้อย่างไรบ้าง

1. หน่วยรบทหารราบ โดยส่วนใหญ่หากเลือกตำแหน่งเหล่าทหารราบก็มักจะได้เป็นอยู่แล้ว ทั้งยังมีตำแหน่งนี้ให้เลือกบรรจุอยู่มาก

2. หน่วยรบทหารม้า เชื่อว่าน้องๆต้องรู้จักผู้พันเบิร์ด พ.ท.วันชนะ สวัสดี จากหนังเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่นแหละครับเหล่าทหารม้า ไม่ได้แปลว่าต้องไปแสดงหนังนะ แต่คือเราทำการรบโดยใช้ม้าครับ จะได้เรียนรู้การขี่ม้า ถ้าอยากเป็นคาวบอยก็ไปเลยครับ

3. ทหารรบพิเศษ หรือทหารที่ใส่หมวกเบเล่ย์สีแดงมีสายสีแดงที่แขนขวานั่นเอง ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าทหารรบพิเศษอยู่ในส่วนของทหารราบครับ ถ้าน้องอยากเป็นหลังจากจบการศึกษาจากร.ร.เหล่าต้องเลือกตำแหน่งของศูนย์สงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองปฏิบัติการพิเศษ(ฉก.90) กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา กองพันจู่โจม กองพันลาดตระเวนระยะไกล และการพันเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งการเลือกทางนี้ยังมียอดต่อไปอีกมากครับ อยากฝึกซีล ฝึกรีคอนได้ไปแน่ อยากเป็นสไนเปอร์ที่เคยเล่นในเกมส์ตอนเด็กๆมีทางแน่ แต่จะไม่ขอพูดถึงในนี้ครับ

4. ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ หากน้องๆดูการถ่ายทอดสดพระราชพิธีต่างๆ หรือในงานพระราชทานปริญญาบัตร น้องๆจะเห็นทหารที่ใส่เสื้อสีขาวกางเกงสีดำสวมหมวกเหมือนสมัยก่อนคอยเดินตามเสด็จและรักษาความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเครื่องแบบจะมีความสง่างามเพราะนอกจากน้องๆจะมีบุคลิกที่ดีแล้วทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จะมีเครื่องหมายประดับที่หน้าอกเยอะมากครับหากน้องๆอยากรับใช้ใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์ก็ต้องเลือกตำแหน่งที่อยู่ในส่วนของกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์เท่านั้นครับ

5. ทหารรักษาพระองค์ อันนี้ก็เช่นกัน น้องๆจะเห็นทหารเหล่านี้แต่งเครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีครับ ที่เป็นเครื่องแบบที่มีสีสันสวยงาม (ถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆก็คือ กระป๋องคุ๊กกี้อาร์เซนอลครับ) ทหารรักษาพระองค์ หรือทหารราชวัลลภนั้นจะมีเครื่องแบบที่เท่และสวยมาก หากน้องๆอยากเป็นทหารรักษาพระองค์ ก็ต้องเลือกตำแหน่งที่อยู่ในหน่วยทหารที่มีคำว่ารักษาพระองค์ตามหลังครับ เช่น กรมทหารราบที่21รักษาพระองค์(ทหารเสือพระราชินี) กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่31รักษาพระองค์(ทหารรบพิเศษ กองพันเคลื่อนที่เร็ว) ฯลฯ

6. นักบินทหารบก เมื่อน้องกำลังจะจบการศึกษาจากร.ร.เหล่า ทางร.ร.จะดำเนินการรับสมัครให้กับร.ร.การบินทหารบกให้โดยตรง

7. หน่วย EOD(เก็บกู้วัตถุระเบิด) ต้องเลือกลงเหล่าสรรพาวุธจึงจะมีสิทธิเข้ารับการศึกษาหลักสูตรทำลายวัตถุระเบิดเพื่อบรรจุเป็นนักทำลายวัตถุระเบิดต่อไป 

8. กรมแผนที่ทหาร สำหรับนักเรียนนายร้อยที่เลือกเรียนวิศวกรรมสำรวจ

9. นายทหารคนสนิท(ทส.) ตำแหน่งนี้จะได้ทำงานใกล้ผู้ใหญ่ครับ มีตำแหน่งน้อยและงานค่อนข้างหนัก เพราะทำหน้าที่คล้ายๆเลขานุการครับแต่เลขานุการ24ชม.

10. ส่วนเหล่าอื่นๆที่เหลือจะไม่ขอกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถเลือกตำแหน่งบรรจุได้ทันทีครับ (เข้าไปแล้วจะรู้เองโดยอัตโนมัติครับ)

เพิ่มเติม
1. นักเรียนนายร้อยทุกนายจะได้เรียนกับทูลกระหม่อมอาจารย์ (พลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ) ในวิชาประวัติศาสตร์
2. นักเรียนนายร้อยจะฝึกหนักมากในภาคซัมเมอร์ทุกปี จึงมีเวลาปิดภาคเรียนไม่นาน
3. นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 4 มีโอกาสไปดูงานต่างประเทศ
4. นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 1 ที่มีผลการเรียนดีจะได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาที่ร.ร.นายร้อยต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมัน ฯลฯ


เหล่าทหารเรือ (ร.ร.นายเรือ) 
  เหล่านี้เมื่อจบแล้วโดยมากจะได้รับการบรรจุให้ทำงานในเรือครับ เช่น รล.จักรีนฤเบศ ที่พวกเราอาจจะเคยไปเที่ยวชมกันบ่อยๆ ในที่นี้จะขอกล่าวระบบการแยกเหล่าของทหารเรือก่อนนะครับ โดยทหารเรือจะแบ่งเป็นพรรคใหญ่ๆก่อนแล้วค่อยแตกย่อยเป็นเหล่าซึ่งจะไม่มีเหมือนเหล่าอื่นๆ ดังนี้ครับ พรรคนาวิน ได้แก่ เหล่าทหารการปืน เหล่าทหารอาวุธใต้น้ำ เหล่าทหารสามัญ เหล่าทหารสัญญาณ เหล่าทหารอุทกศาสตร์ เหล่าทหารขนส่ง เหล่าทหารสรรพาวุธ เหล่าทหารอุตุนิยมวิทยา เหล่าทหารสารวัตร และเหล่าทหารการข่าว   พรรคกลิน ได้แก่ เหล่าทหารเครื่องกลและเหล่าทหารไฟฟ้า พรรคนาวิกโยธิน ได้แก่ เหล่าทหารราบ เหล่าปืนใหญ่และเหล่าทหารช่าง และเหล่าทหารสื่อสาร  พรรคพิเศษ ได้แก่ เหล่าทหารสารบรรณ เหล่าทหารพลาธิการ เหล่าทหารการเงิน เหล่าทหารพระธรรมนูญ เหล่าทหารช่างยุทธโยธา เหล่าทหารวิทยาศาสตร์ เหล่าทหารดุริยางค์ และเหล่าทหารแพทย์ แต่ทั้งนี้ในส่วนของพรรคพิเศษ จะไม่มีตำแหน่งให้นักเรียนนายเรือที่จบการศึกษาเลือก ผู้ที่ทำงานในพรรคนี้จะมาจากผู้ที่จบจากร.ร.ชุมพลทหารเรือหรือผู้ที่สอบบรรจุเข้ามาเท่านั้น เมื่อรู้จักเหล่าแล้วทีนี้มาดูเส้นทางกันว่านักเรียนนายเรือสามารถเลือกเส้นทางการทำงานได้อย่างไรบ้าง

1. นายธง (ถ้าทบ.เรียกทส.หรือนายทหารคนสนิท ถ้าตร.เรียกนายเวร) ตำแหน่งนี้จะได้ทำงานใกล้ผู้ใหญ่ครับ มีตำแหน่งน้อยและงานค่อนข้างหนัก เพราะทำหน้าที่คล้ายๆเลขานุการครับแต่เลขานุการ24ชม.

2. นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือหน่วย SEAL นั่นเอง หลักสูตรนี้สามารถสมัครเข้าฝึกได้โดยตรงกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองเรือยุทธการ ซึ่งโดยมากหากไม่ได้เป็นนาวิกโยธินแล้วจะไม่ได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้ไปฝึกครับ ดังนั้นหากอยากเป็นจบแล้วเลือกตำแหน่งนาวิกโยธินครับ
3. นักรบรีคอน หรือชื่อหลักสูตรเต็มคือ หลักสูตรการรบพิเศษแขนงการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจมนาวิกโยธิน เป็นหลักสูตรของกองพันลาดตระเวนนาวิกโยธิน ซึ่งโดยมากหากไม่ได้เป็นนาวิกโยธินแล้วจะไม่ได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้ไปฝึกครับ ดังนั้นหากอยากเป็นจบแล้วเลือกตำแหน่งนาวิกโยธินครับ

4. นักบินทหารเรือ เมื่อน้องกำลังจะจบการศึกษาจากร.ร.เหล่า ทางร.ร.จะดำเนินการรับสมัครแล้วส่งไปฝึกกับร.ร.การบินกำแพงแสนและร.ร.การบินทหารบกให้ ซึ่งนักบินทหารเรือจะรับจากนักเรียนนายเรือเท่านั้น

5. ทหารรักษาพระองค์ อันนี้ก็เช่นกัน น้องๆจะเห็นทหารเหล่านี้แต่งเครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีครับ ที่เป็นเครื่องแบบที่มีสีสันสวยงาม (ถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆก็คือ กระป๋องคุ๊กกี้อาร์เซนอลครับ) ทหารรักษาพระองค์ หรือทหารราชวัลลภนั้นจะมีเครื่องแบบที่เท่และสวยมาก หากน้องๆอยากเป็นทหารรักษาพระองค์ ก็ต้องเลือกตำแหน่งที่อยู่ในหน่วยทหารที่มีคำว่ารักษาพระองค์ตามหลังครับ เช่น กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน กองพันทหารราบที่ 9 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ฯลฯ

6. นักประดาน้ำ สังกัดกรมสรรพาวุธทหารเรือ จะทำหน้าที่ปฏิบัติงานใต้น้ำในทะเลลึก เช่น ถวายความปลอดภัย
ในการเสด็จทางชลมารคให้แก่พระเจ้าอยู่หัวหรือรักษาความปลอดภัยทางน้ำให้กับบุคคลสำคัญ

7. นักถอดทำลายอมภัณฑ์ (EOD) สังกัดกรมสรรพาวุธทหารเรือ จะทำหน้าที่ทำลายวัตุระเบิดและสิ่งต้องสงสัย แต่จะต้องจบหลักสูตรนักประดาน้ำมาก่อน

8. ส่วนเหล่าอื่นๆที่เหลือจะไม่ขอกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถเลือกตำแหน่งบรรจุได้ทันทีครับ (เข้าไปแล้วจะรู้เองโดยอัตโนมัติครับ)

เพิ่มเติม
1. นักเรียนนายเรือจะฝึกภาคทะเลในภาคซัมเมอร์ทุกปี มีโอกาสได้เที่ยวต่างประเทศบ่อยมากๆ
2. นักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 1 ที่มีผลการเรียนดีจะได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาที่ร.ร.นายร้อยต่างประเทศ เช่น สเปน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ


เหล่าทหารอากาศ (ร.ร.นายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช)
  เหล่านี้เมื่อจบแล้วโดยมากจะสอบเข้าเป็นนักบินกันเกือบทั้งรุ่นครับ นอกนั้นก็จะบรรจุเข้าทำงานตำแหน่งอื่นๆ โดยทหารอากาศจะแบ่งเหล่าดังนี้ครับ เหล่าทหารช่างอากาศ  เหล่าทหารสื่อสาร เหล่าทหารสรรพาวุธ ทหารอากาศโยธิน เหล่าทหารสารวัตร เหล่าทหารแพทย์ เหล่าทหารต้นหน และเหล่าทหารอุตุ แต่ทั้งนี้ในส่วนของเหล่าแพทย์จะไม่มีตำแหน่งให้นักเรียนนายเรืออากาศ
ที่จบการศึกษาเลือก ผู้ที่ทำงานในเหล่านี้จะมาจากผู้ที่จบจากวิทยาลัยแพทยศาสตรพระมงกุฎเกล้าหรือผู้ที่สอบบรรจุเข้ามาเท่านั้น เมื่อรู้จักเหล่าแล้วทีนี้มาดูเส้นทางกันว่านักเรียนนายเรืออากาศสามารถเลือกเส้นทางการทำงานได้อย่างไรบ้าง

1. นักบิน รับจากนักเรียนนายเรืออากาศเท่านั้น โดยจะสอบคัดเลือกกันตอนจะจบการศึกษา เกือบทั้งรุ่นที่จะได้ไปฝึกเป็นนักบิน ที่โรงเรียนการบิน กำแพงแสน เป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะไปฝึกหลักสูตรการบินในหน่วยที่เราเลือกหลังจากจบอีก เช่น นักบินลำเลียง C-130 กองบิน6, นักบินขับไล่ F-16 กองบิน4 ฯลฯ 

2. ทหารรักษาพระองค์ อันนี้ก็เช่นกัน น้องๆจะเห็นทหารเหล่านี้แต่งเครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีครับ ที่เป็นเครื่องแบบที่มีสีสันสวยงาม (ถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆก็คือ กระป๋องคุ๊กกี้อาร์เซนอลครับ) ทหารรักษาพระองค์ หรือทหารราชวัลลภนั้นจะมีเครื่องแบบที่เท่และสวยมาก หากน้องๆอยากเป็นทหารรักษาพระองค์ ก็ต้องเลือกตำแหน่งที่อยู่ในหน่วยทหารที่มีคำว่ารักษาพระองค์ตามหลังครับ เช่น กรมทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์ ฯลฯ

3. คอมมานโดทอ. หน่วยนี้อยู่ภายใต้สังกัดกรมปฏิบัติการพิเศษทอ. เหล่าทหารอากาศโยธิน ดังนั้นน้องๆคนไหนอยากเป็นลงอากาศโยธินไว้ครับ หรือไม่งั้นก็รอรับสมัครซึ่งเค้ารับไม่จำกัดเหล่าแต่ต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาให้ได้ ซึ่งการเลือกทางนี้ยังมียอดต่อไปอีกมากครับ อยากฝึกซีล ฝึกรีคอนได้ไปแน่ อยากเป็นสไนเปอร์ที่เคยเล่นในเกมส์ตอนเด็กๆมีทางแน่ แต่จะไม่ขอพูดถึงในนี้ครับ

4. EOD สังกัดกรมสรรพาวุธทหารอากาศ จะทำหน้าที่ทำลายวัตุระเบิดและสิ่งต้องสงสัย

5. ส่วนเหล่าอื่นๆที่เหลือจะไม่ขอกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถเลือกตำแหน่งบรรจุได้ทันทีครับ (เข้าไปแล้วจะรู้เองโดยอัตโนมัติครับ) 

เพิ่มเติม
1. นักเรียนนายเรืออากาศชั้นปีที่ 4 จะฝึกเดินอากาศในภาคซัมเมอร์ทุกปี มีโอกาสได้เที่ยวต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ
2. นักเรียนนายเรืออากาศชั้นปีที่ 1 ที่มีผลการเรียนดีจะได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาที่ร.ร.นายร้อยต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ
3. นักเรียนนายเรืออากาศชั้นปีที่ 3 จะได้ฝึกบินกับเครื่องบินพร้อมครูฝึก


เหล่าตำรวจ (ร.ร.นายร้อยตำรวจ)
  เหล่านี้เมื่อจบแล้วโดยมากจะบรรจุเป็นรองสารวัตร(รองสว.) หรือพนักงานสอบสอบสวนตามสถานีตำรวจทั่วประเทศกันเกือบทั้งรุ่น นอกนั้นก็จะบรรจุเข้าทำงานตำแหน่งอื่นๆ เช่น ตชด. ตำรวจพลร่ม นายเวร ฯลฯ (ปัจจุบันบังคับลงพนักงานสอบสวนก่อน 1 ปี) แต่ตำรวจน้ำจะไม่มีตำแหน่งให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบการศึกษา เพราะสตช.ได้ฝากให้ร.ร.ชุมพลทหารเรือและร.ร.นายเรือผลิตบุคลากรด้านนี้แล้ว โดยสมัครได้ที่ร.ร.ดังกล่าวโดยตรง รับเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือปีละ 30 นาย และนักเรียนนายเรือปีละ 10 นาย ทีนี้มาดูเส้นทางกันว่านักเรียนนายร้อยตำรวจสามารถเลือกเส้นทางการทำงานได้อย่างไรบ้าง 

1. นักบินตำรวจ รับจากตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั่วไป โดยฝึกกับสถาบันการบินพลเรือน (บางครั้งก็รับผู้ที่จบเป็นนักบินพาณิชย์ตรีแล้ว)

2. ตำรวจคอมมานโด ซึ่งมีอยุ่มากมายหลายหน่วยครับ เช่น กองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจนครบาล ปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และปฏิบัติการพิเศษภูธร ซึ่งอยากไปอยู่หน่วยไหนก็ต้องเลือกบรรจุหน่วยนั้นๆ และจะมีประกาศรับสมัครฝึกภายหลัง

3. ตำรวจพลร่ม หน่วยนี้อยู่ภายใต้กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งน้องๆส่วนใหญ่น่าจะรุ้จักมาบ้างแล้ว เช่น ผู้กองแคน และหมวดตี้ ดังนั้นน้องๆคนไหนอยากเป็นต้องลงหน่วยนี้เท่านั้นครับ ซึ่งการเลือกทางนี้ยังมียอดต่อไปอีกมากครับ อยากเป็นคอมมานโดก็ได้เป็น(นเรศวร261) อยากฝึกซีล ฝึกรีคอนได้ไปแน่ แต่จะไม่ขอพูดถึงในนี้ครับ

4. หน่วย EOD ตำรวจ ถ้าอยากเป็นต้องเลือกลงตชด.หลังจากนั้นจะมีการรับสมัครฝึกอบรมอีกครั้งหนึ่ง

5. ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) จะรับสมัครโดยตรงพร้อมกองการสอบ และจากข้าราชการตำรวจหน่วยอื่นๆโดยต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ

6. ตำรวจท่องเที่ยว จะรับสมัครจากข้าราชการตำรวจหน่วยอื่นๆโอนย้ายมาเท่านั้น โดยการทดสอบภาษาอังกฤษ

7. ส่วนเหล่าอื่นๆที่เหลือ เช่น ตชด. จะไม่ขอกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถเลือกตำแหน่งบรรจุได้ทันทีครับ (เข้าไปแล้วจะรู้เองโดยอัตโนมัติครับ) 

ฉบับแก้ไข 17/11/2556      22.13 น.


// ADMIN อัศวินน้อย //

The Road To Soldier & Police เส้นทางสู่อาชีพทหาร - ตำรวจ
บล็อกเกอร์ : http://theroadtosoldierpoliceth.blogspot.com/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น